วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ [Clip] ครั้งแรกที่ได้เห็นลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน

     คลิปวิดีโอลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารนี้นำมาจากเฟซบุ๊กของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ค่ะ ซี่งรายละเอียดที่มาของคลิปต้นฉบับจะอธิบายอยู่ด้านล่างทั้งหมด

     บล็อกของเราเริ่มนำข้อมูลเรื่องแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ตั้งแต่ปลายปี 2561 จากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ได้รู้ว่าแม่เต่ากลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 5 ปี ได้ลุ้นลูกเต่าฟักออกจากไข่และกลับลงทะเลไปอย่างแข็งแรง จนถึงปัจจุบันนี้คุณแม่เต่าเค้ากลับขึ้นมาวางไข่กันมากขึ้น มีลูกเต่าที่แข็งแรงกลับลงทะเลอีกหลายร้อยตัว ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีโอกาสได้เห็นความเป็นอยู่ของเต่ามะเฟืองกับตาสักครั้ง นอกจากได้อ่านข้อมูลว่าเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร แต่วันนี้ได้เห็นแล้วค่ะ ตื่นเต้นและดีใจมาก ๆ  ขอเก็บความประทับใจนี้ไว้ในบล็อกและแบ่งปันให้เพื่อน ๆ  ที่เข้ามาอ่านได้ดูด้วยกันค่ะ

หมายเหตุ : ข้อความด้านล่างนี้จะตัดประโยคของดร.ธรณ์บางประโยคเพื่อให้บล็อกกระชับยิ่งขึ้นนะคะ





     ยังไม่ลืมพวกหนูใช่ไหม ? คลิปพิเศษสุดยอดนี้ส่งตรงมาจากกรมทะเล เพื่อได้ชมพฤติกรรมหาดูได้ยากมาก ๆ  #ลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน

     จากปรากฏการณ์สนั่นทะเลไทย แม่เต่ามะเฟืองวางไข่ 11 รัง มีลูกเต่าฟักออกมาถึงตอนนี้เกือบ 400 ตัว มีลูกเต่าบางตัวที่ไม่แข็งแรง ไม่พร้อมลงทะเล กรมทะเลจึงนำมาอนุบาลไว้ โดยใช้บ่อขนาดใหญ่บ่อเดียวกับที่มาเรียมเคยอยู่ เน้นย้ำว่า โดยปรกติเราไม่เลี้ยงลูกเต่ามะเฟือง แต่ครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งเรายังมีบ่อใหญ่มาก มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรเพียงพอ จึงสามารถดูแลได้หากลูกเต่ามีจำนวนไม่มากเกินไป หนนี้เราจึงมีโอกาสเห็นพฤติกรรมหายากมาก ว่าง่าย ๆ  คือ ไม่เคยเห็นมาก่อน เรารู้ว่าลูกเต่ามะเฟืองเกิดมาจะเร่งรีบว่ายไปกลางทะเล ไปให้ไกลฝั่งสุดเท่าที่ทำได้ แต่ที่น่าสงสัย พวกเธอกินอะไรนะ ? เราพอรู้ว่าเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ถือเป็นสัตว์ช่วยควบคุมแมงกะพรุนตามธรรมชาติไม่ให้มีมากเกินไป เจ้าหน้าที่กรมทะเลจึงนำแมงกะพรุนมาให้ลูกเต่าลองกิน คลิปนี้แสดงชัดเจนว่าน้องเต่ามะเฟืองชอบกินแมงกะพรุนจริงจัง

     เริ่มจากการดูท่าว่าย จะเห็นว่าน้องเต่าใช้ครีบคู่หน้าที่ใหญ่และยาวมาก เพื่อพาตัวเองไปข้างหน้า ครีบคู่หลังมีไว้เพื่อช่วยกำหนดทิศทางเล็ก ๆ  น้อย ๆ  เต่ามะเฟืองอาศัยกลางมหาสมุทร ต้องว่ายน้ำเก่ง แข็งแรง ลูกเต่าจึงมีครีบหน้าที่เจ๋งมาก เป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ จากนั้นลองสังเกตว่า เต่ามะเฟืองมีหัวขนาดใหญ่ ปากใหญ่และกว้าง สามารถอ้ำแมงกะพรุนเข้าไปได้ทั้งตัว เป็นลักษณะพิเศษของเต่าชนิดนี้ เต่าชนิดอื่นก็กินแมงกะพรุน แต่ไม่ใช่อาหารหลัก และส่วนใหญ่จะกัดแทะ ไม่อ้ำไปทั้งตัวเหมือนน้องมะเฟือง

     นี่เป็นครั้งแรก ๆ  ในโลกที่เรามีโอกาสเห็นพฤติกรรมแบบนี้ แม้จะเป็นในที่เลี้ยงก็ตาม คราวนี้ลองคิดว่า ถ้าเป็นเศษถุงพลาสติกหรือขยะทะเลลอยในน้ำ ลูกเต่าเข้าใจผิดกินเข้าไป เธอย่อมป่วยหรืออาจตายได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราต้องช่วยกันลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ไม่เช่นนั้นเต่าตายหมด แล้วใครจะมาคอยช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุน ช่วงนี้มีข่าวแมงกะพรุนเพิ่มที่นั่นที่นี่ สาเหตุหนึ่งเพราะขยะทะเลมหาศาล ขยะพวกนี้ทำร้ายเต่าและย้อนกลับมาทำร้ายเรา ของมันเห็น ๆ  กันอยู่ ยิ่งช่วงนี้ ขยะใช้แล้วทิ้งเยอะมาก พวกเราคงต้องช่วยกันทำทุกทางเท่าที่ทำได้

     ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทยได้เรียนรู้เรื่องเต่ามะเฟืองเพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งแต่พฤติกรรมวางไข่ การดูแลของพวกเรา การช่วยไข่ที่ยังไม่ฟัก ไปจนถึงการเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองในระยะแรก เราจะเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองพวกนี้ไปสักระยะ เพื่อให้เรียนรู้พฤติกรรม ฯลฯ ที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุบาล/ช่วยชีวิตลูกเต่ามะเฟืองในวันหน้า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเต่ามะเฟืองทั้งโลก เพราะไทยกำลังก้าวไปเป็นผู้นำในการอนุรักษ์/ดูแลเต่าใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งหมดนี้ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคน

     ทั้งพี่ ๆ  เจ้าหน้าที่กรมทะเล/กรมอุทยาน/ข้าราชการในพื้นที่ พี่น้องพังงาและภูเก็ต ตลอดจนคนรักทะเลทั่วไทยที่ติดตามให้กำลังใจกันตลอด จากใกล้หมดหวังเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นเริ่มมีหวังเมื่อ 2 ปีก่อน กลายเป็นก้าวไปข้างหน้าในวันนี้ ในทะเลสีคราม ตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้ ปาฏิหาริย์เกิดได้เสมอ

หมายเหตุ - ขอบคุณคลิปจากท่านรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล


ข้อมูลอ้างอิง :







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

◕ 10 อันดับบทความยอดนิยมประจำสัปดาห์ ◕