วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

✿ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดู กรกฎาคม 2563 (ครั้งที่ 4 - รังที่ 15)

: วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 :

     วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 เวลา 21.50 น. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) นายหฤษฎ์ชัย ฤทธิช่วย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจที่ออกลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลว่าพบเต่ามะเฟืองกำลังขึ้นมาวางไข่จึงได้ประสานไปยังนายปรารพ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมตรวจสอบในพื้นที่ปรากฏว่าพบเต่ามะเฟืองกำลังวางไข่อยู่บริเวณพิกัด E413683 N942322 พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลป.3 (ปาง) ห่างจากเขาหน้ายักษ์มาทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จากนั้นได้เฝ้าดูการวางไข่จนแม่เต่าวางไข่เสร็จเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปทำการวัดขนาดของแม่เต่าดังนี้ ความยาวจากหัวถึงหาง 190 เซนติเมตร ความยาวกระดอง 150 เซนติเมตร ความกว้างของลำตัว 85 เซนติเมตร โดยแม่เต่าใช้เวลาตั้งแต่วางไข่จนกระทั่งกลับลงสู่ทะเลเป็นเวลา 2 ชั่วโมง และได้เฝ้าดูแลจนกระทั่งแม่เต่าได้เดินทางกลับลงสู่ทะเลเรียบร้อยแล้ว 

     ซึ่งต่อมาได้พิจารณาสภาพแวดล้อมบริเวณหลุมไข่และพบว่าหลุมไข่ที่แม่เต่าวางไข่ไว้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุดซึ่งอาจจะทำให้ไข่เต่าเสียหายได้จึงทำการย้ายไข่ทั้งหมดมาฟักยังหลุมฟักที่อยู่ในคอกกั้น (เป็นคอกเดียวกันกับไข่ของเต่ามะเฟืองที่ขึ้นมาวางไข่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563) สามารถนับจำนวนไข่ได้ทั้งหมด 103 ฟอง เป็นไข่ดี 87 ฟอง และไข่ลม 16 ฟอง หลุมไข่มีความลึก 80 เซนติเมตร จากนี้จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามบริเวณหลุมฟักไข่ตลอด 24 ชั่วโมงจนกว่าไข่เต่าจะฟักออกเป็นตัวซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 55-60 วัน












: คลิปวิดีโอ :




ข้อมูลอ้างอิง :








วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

✿ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดู กรกฎาคม 2563 (ครั้งที่ 3 - รังที่ 14)

: วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 :

     วันที่ 26 กรกฎาคม 2563 เวลาประมาณ 08.30 น. อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบร่องรอยที่คาดว่าเป็นการขึ้นวางไข่ของเต่าทะเลบริเวณชายหาดในเขตอุทยานฯ ห่างจากเขาหน้ายักษ์มาทางทิศใต้ประมาณ 2.0 กิโลเมตร พิกัด 0413914E 0941474N จึงได้ตรวจสอบและทำการขุดหาไข่เต่า และพบไข่เต่าทะเลอยู่ลึกจากพื้นทราย 90 เซนติเมตร วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไข่เต่าได้ 5 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าจะเป็นไข่ของเต่ามะเฟือง พิจารณาจากร่องรอยแล้วไม่สามารถระบุเวลาที่แม่เต่าขึ้นวางไข่ได้ เพราะร่องรอยลบเลือน เนื่องจากเป็นช่วงฝนตกหนัก จึงทำการถมทรายกลบดังเดิม เพื่อให้ไข่เต่าเพาะฟักตามธรรมชาติ และจะจัดทำคอกเพื่อป้องกันภัยคุกคามและปักไม้เพื่อเป็นแนวกันคลื่นหลุมไข่เต่าต่อไป






ข้อมูลอ้างอิง :







วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

✿ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดู กรกฎาคม 2563 (ครั้งที่ 2 - รังที่ 13)

: วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 :

     วันที่ 7 กรกฎาคม 2563 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่6 (พังงา) และศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) ว่าเมื่อเวลา 05.00 น. รับแจ้งจากคุณโรม แสงแก้ว ชาวประมง พบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณชายหาดเขาหน้ายักษ์ ม.7 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จึงร่วมกันตรวจสอบหลุมไข่ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 9.7 กิโลเมตร พบเป็นร่องรอยการขึ้นวางไข่ของเต่ามะเฟือง ขนาดความกว้างของพายหน้าจากซ้ายไปขวา 170 เซนติเมตร ขนาดความกว้างของอก 80 เซนติเมตร ขุดค้นหาไข่พบที่ระดับความลึก 70 เซนติเมตร นับได้ไข่ดี 91 ฟอง ไข่ลม 9 ฟอง รวม 100 ฟอง ตรวจสอบบริเวณหลุมไข่เต่าอยู่ในระดับแนวน้ำทะเลท่วมถึง และเนื่องจากอยู่ในช่วงมรสุม และไม่มีพื้นที่ชายหาดที่มีความเหมาะสมที่จะทำการเพาะฟักตามธรรมชาติ จึงเคลื่อนย้ายไข่เต่าไปเพาะฟักในสภาพแวดล้อมจำลอง ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง พร้อมติดตั้งไฟควบคุมอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิ (data logger) เพื่อติดตามพัฒนาการของไข่เต่ามะเฟือง ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และนักวิชาการต่อไป







ข้อมูลอ้างอิง :








✿ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่นอกฤดู กรกฎาคม 2563 (ครั้งที่ 1 - รังที่ 12)

: วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 :

     วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่6 (พังงา) ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ตรวจพื้นที่ตามที่ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ว่าพบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล บริเวณหาดเขาหน้ายักษ์ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา อยู่ในเขตอุทยาน ผลการตรวจวัด ขนาดรอยมีความกว้างของพายหน้าจากซ้ายไปขวา 170 เซนติเมตร ขนาดความกว้างของอก 60 เซนติเมตร คาดว่าเป็นร่องรอยของเต่ามะเฟือง เมื่อขุดค้นหาลึก 80 เซนติเมตร พบไข่เต่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร จึงกลบหลุมไว้เช่นเดิม ไม่ได้เคลื่อนย้ายไข่แต่อย่างใด พร้อมจัดทำคอกกั้นป้องกันภัยอันตรายตามธรรมชาติ ปักหลักทำแนวกันคลื่น โดยทางอุทยานฯ จะจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง จนกว่าไข่เต่าจะฟักและลูกเต่ามะเฟืองลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัยต่อไป






◕ 10 อันดับบทความยอดนิยมประจำสัปดาห์ ◕