วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ D.I.Y. เปลี่ยนกล่องทิชชู่ที่ใช้หมดแล้วให้เติมทิชชู่รีฟิลได้

     กล่องกระดาษทิชชู่ที่ใช้หมดแล้วยังมีประโยชน์อย่าเพิ่งทิ้งค่ะ เราดัดแปลงให้เป็นกล่องใส่ทิชชู่แบบห่อพลาสติกได้ ตัดปัญหาทิชชู่ลงไปกองรวมกันในห่อทำให้หยิบยากหรือไม่ก็ปัญหาห่อทิชชู่ชอบปลิวตกเวลาที่กระดาษเริ่มเหลือน้อยค่ะ

     ถ้าบ้านเพื่อน ๆ  ใช้กระดาษทิชชู่ทั้งแบบกล่องและแบบห่อก็ขอแนะนำให้ใช้วิธีนี้นะคะ เป็นการประหยัดไปในตัว เติมกระดาษได้เรื่อย ๆ  จนกว่ากล่องจะพัง จะได้ยื้อเวลาการแกะกล่องใหม่มาใช้จ้า


1. เตรียมกล่องทิชชู่ที่ใช้หมดแล้ว



2. ค่อย ๆ  แกะด้านที่เราจะใช้ใส่กระดาษรีฟิลค่ะด้านไหนก็ได้ ในรูปด้านล่างคือฝั่งที่ไม่ได้แกะ



3. ฝั่งที่แกะแล้วจะเป็นแบบนี้ค่ะ



4. พับฝากล่องแผ่นล่างมาทับแผ่นบนและทำสัญลักษณ์ไว้ที่ขอบประมาณตรงลูกศรชี้ค่ะ ทำเพื่อให้รู้ว่าขอบกระดาษเริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหนเพราะเราจะกรีดไว้ทำที่ปิดในภายหลัง



5. สลับนำฝากล่องแผ่นบนมาปิดทับแผ่นล่าง แล้วใช้ไม้บรรทัดกับดินสอมาขีดเส้นเชื่อมตรงจุดที่เราทำสัญลักษณ์เอาไว้ จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดให้ขาดค่ะ



6. จะได้ฝาปิดที่เข้าล็อกพอดี ในภาพเหมือนไม่พอดีแต่ของจริงคือปิดได้แนบสนิทค่ะ เปิดเข้าเปิดออกเพื่อใส่กระดาษได้สบาย เวลาใส่ก็ใส่ไปทั้งห่อค่ะ



7. เสร็จแล้วค่ะกล่องใส่กระดาษทิชชู่แบบชั่วคราว กล่องลายชิปกับเดลใส่กระดาษทิชชู่ลายโดเรมอน ถ้าใช้แบบถนอมหน่อยกล่องก็แข็งแรงอยู่ได้นานเลยค่า







วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ สรุป ไข่เต่ามะเฟืองหาดไม้ขาว ฝ่อยกรังไม่พบลูกเต่า (รังที่ 9 / ลำดับที่ 10)

: วันที่ 15 - 16 เมษายน 2563 :

     วันที่ 16 เมษายน 2563 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามัน ได้รับการประสานจากอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ส่งไข่เต่ามะเฟืองที่ได้จากหลุมไข่หาดไม้ขาว ซึ่งเป็นไข่ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันขุดตรวจสอบบริเวณหาดไม้ขาวซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เวลา 20.00 น. (หลุมไข่นี้แม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นรังที่ปล่อยให้ฟักเองตามธรรมชาติ ไม่มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด) หลังจากรอมาเป็นเวลา 69 วัน แต่ไม่มีการยุบตัวของทรายบริเวณปากหลุม และไม่พบลูกเต่าฟักขึ้นมา

     ผลการตรวจสอบภายในหลุม พบไข่ที่ไม่ได้รับการผสม 105 ฟอง ไข่ลม 24 ฟอง รวม 129 ฟอง ซึ่งไข่ส่วนใหญ่ติดเชื้อรา มีสีดำ ทำให้ไข่เสีย ทั้งนี้สันนิษฐานว่าอาจเป็นแม่เต่าสาวที่เพิ่งวางไข่ เลือกที่วางไข่ไม่เหมาะสม ประกอบกับไข่ไม่มีน้ำเชื้อจากตัวผู้ ทำให้ไข่ไม่ได้รับการพัฒนา จึงเก็บรวบรวมไข่เต่ามะเฟืองทั้งหมดนำส่งศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบนเพื่อตรวจสอบไข่เต่าต่อไป






ข้อมูลอ้างอิง :








✿ สรุป หลุมไข่เต่ามะเฟืองที่เกาะคอเขาไม่ฟัก ขุดพบมีแต่ไข่ลม (รังที่ 11 / ลำดับที่ 9)

: วันที่ 14 - 15 เมษายน 2563 :

     วันที่ 15 เมษายน 2563 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่6 (พังงา) รายงานผลการประสานข้อมูลกับศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน เกี่ยวกับการจัดการหลุมไข่เต่ามะเฟืองที่ชายหาดเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา (รังที่ 11 แม่เต่าวางไข่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นรังที่ปล่อยให้ฟักเองตามธรรมชาติ ไม่มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด) หลังจากรอมาเป็นวันที่ 64 แต่ยังไม่มีการยุบตัวของทรายบริเวณปากหลุม และไม่พบลูกเต่าฟักขึ้นมาแต่อย่างใด

     เมื่อได้รับคำแนะนำให้ขุดตรวจสอบเมื่อเวลา 20.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน 2563 จึงร่วมกับ อบต.เกาะคอเขา กำนัน ผู้นำชุมชน และชุมชนเกาะคอเขา ช่วยกันขุดหลุมไข่เต่ามะเฟืองดังกล่าว แต่ไม่พบลูกเต่า เมื่อตรวจสอบไข่ในหลุม พบไข่ที่ไม่ได้รับการผสม 56 ฟอง ไข่ลม 46 ฟอง รวม 102 ฟอง ไข่บางส่วนติดเชื้อรา ตรวจสอบสภาพภายในหลุมพบรากผักบุ้งทะเลค่อนข้างมาก รากบางส่วนได้ห่อหุ้มไข่เต่า ทำให้ไม่เหมาะสมแก่การเพาะฟัก

     โดยปกติแม่เต่ามะเฟืองที่มีประสบการณ์จะไม่เลือกวางไข่ที่แนวขอบชายป่า ซึ่งจะมีปัญหาของรากผักบุ้งทะเลหรือรากหญ้าที่จะทำให้ไข่เสีย สันนิษฐานว่าเป็นแม่เต่าสาวที่เพิ่งวางไข่ ทำให้เลือกที่วางไข่ไม่เหมาะสม ประกอบกับเป็นแม่เต่าที่ไม่มีน้ำเชื้อจากตัวผู้ ทำให้ไข่ไม่ได้รับการพัฒนา จากข้อมูลในอดีตเคยมีลักษณะแบบนี้ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในเต่ามะเฟือง จึงเก็บรวบรวมไข่เต่ามะเฟืองทั้งหมด และนำส่งศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน เพื่อตรวจหาโดยละเอียดต่อไป






ข้อมูลอ้างอิง :








วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ [Clip] ครั้งแรกที่ได้เห็นลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน

     คลิปวิดีโอลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารนี้นำมาจากเฟซบุ๊กของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ค่ะ ซี่งรายละเอียดที่มาของคลิปต้นฉบับจะอธิบายอยู่ด้านล่างทั้งหมด

     บล็อกของเราเริ่มนำข้อมูลเรื่องแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ตั้งแต่ปลายปี 2561 จากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ได้รู้ว่าแม่เต่ากลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 5 ปี ได้ลุ้นลูกเต่าฟักออกจากไข่และกลับลงทะเลไปอย่างแข็งแรง จนถึงปัจจุบันนี้คุณแม่เต่าเค้ากลับขึ้นมาวางไข่กันมากขึ้น มีลูกเต่าที่แข็งแรงกลับลงทะเลอีกหลายร้อยตัว ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีโอกาสได้เห็นความเป็นอยู่ของเต่ามะเฟืองกับตาสักครั้ง นอกจากได้อ่านข้อมูลว่าเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร แต่วันนี้ได้เห็นแล้วค่ะ ตื่นเต้นและดีใจมาก ๆ  ขอเก็บความประทับใจนี้ไว้ในบล็อกและแบ่งปันให้เพื่อน ๆ  ที่เข้ามาอ่านได้ดูด้วยกันค่ะ

หมายเหตุ : ข้อความด้านล่างนี้จะตัดประโยคของดร.ธรณ์บางประโยคเพื่อให้บล็อกกระชับยิ่งขึ้นนะคะ





     ยังไม่ลืมพวกหนูใช่ไหม ? คลิปพิเศษสุดยอดนี้ส่งตรงมาจากกรมทะเล เพื่อได้ชมพฤติกรรมหาดูได้ยากมาก ๆ  #ลูกเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน

     จากปรากฏการณ์สนั่นทะเลไทย แม่เต่ามะเฟืองวางไข่ 11 รัง มีลูกเต่าฟักออกมาถึงตอนนี้เกือบ 400 ตัว มีลูกเต่าบางตัวที่ไม่แข็งแรง ไม่พร้อมลงทะเล กรมทะเลจึงนำมาอนุบาลไว้ โดยใช้บ่อขนาดใหญ่บ่อเดียวกับที่มาเรียมเคยอยู่ เน้นย้ำว่า โดยปรกติเราไม่เลี้ยงลูกเต่ามะเฟือง แต่ครั้งนี้เป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งเรายังมีบ่อใหญ่มาก มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรเพียงพอ จึงสามารถดูแลได้หากลูกเต่ามีจำนวนไม่มากเกินไป หนนี้เราจึงมีโอกาสเห็นพฤติกรรมหายากมาก ว่าง่าย ๆ  คือ ไม่เคยเห็นมาก่อน เรารู้ว่าลูกเต่ามะเฟืองเกิดมาจะเร่งรีบว่ายไปกลางทะเล ไปให้ไกลฝั่งสุดเท่าที่ทำได้ แต่ที่น่าสงสัย พวกเธอกินอะไรนะ ? เราพอรู้ว่าเต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ถือเป็นสัตว์ช่วยควบคุมแมงกะพรุนตามธรรมชาติไม่ให้มีมากเกินไป เจ้าหน้าที่กรมทะเลจึงนำแมงกะพรุนมาให้ลูกเต่าลองกิน คลิปนี้แสดงชัดเจนว่าน้องเต่ามะเฟืองชอบกินแมงกะพรุนจริงจัง

     เริ่มจากการดูท่าว่าย จะเห็นว่าน้องเต่าใช้ครีบคู่หน้าที่ใหญ่และยาวมาก เพื่อพาตัวเองไปข้างหน้า ครีบคู่หลังมีไว้เพื่อช่วยกำหนดทิศทางเล็ก ๆ  น้อย ๆ  เต่ามะเฟืองอาศัยกลางมหาสมุทร ต้องว่ายน้ำเก่ง แข็งแรง ลูกเต่าจึงมีครีบหน้าที่เจ๋งมาก เป็นวิวัฒนาการของธรรมชาติ จากนั้นลองสังเกตว่า เต่ามะเฟืองมีหัวขนาดใหญ่ ปากใหญ่และกว้าง สามารถอ้ำแมงกะพรุนเข้าไปได้ทั้งตัว เป็นลักษณะพิเศษของเต่าชนิดนี้ เต่าชนิดอื่นก็กินแมงกะพรุน แต่ไม่ใช่อาหารหลัก และส่วนใหญ่จะกัดแทะ ไม่อ้ำไปทั้งตัวเหมือนน้องมะเฟือง

     นี่เป็นครั้งแรก ๆ  ในโลกที่เรามีโอกาสเห็นพฤติกรรมแบบนี้ แม้จะเป็นในที่เลี้ยงก็ตาม คราวนี้ลองคิดว่า ถ้าเป็นเศษถุงพลาสติกหรือขยะทะเลลอยในน้ำ ลูกเต่าเข้าใจผิดกินเข้าไป เธอย่อมป่วยหรืออาจตายได้ นั่นคือเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราต้องช่วยกันลดขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ไม่เช่นนั้นเต่าตายหมด แล้วใครจะมาคอยช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุน ช่วงนี้มีข่าวแมงกะพรุนเพิ่มที่นั่นที่นี่ สาเหตุหนึ่งเพราะขยะทะเลมหาศาล ขยะพวกนี้ทำร้ายเต่าและย้อนกลับมาทำร้ายเรา ของมันเห็น ๆ  กันอยู่ ยิ่งช่วงนี้ ขยะใช้แล้วทิ้งเยอะมาก พวกเราคงต้องช่วยกันทำทุกทางเท่าที่ทำได้

     ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไทยได้เรียนรู้เรื่องเต่ามะเฟืองเพิ่มขึ้นมากมาย ตั้งแต่พฤติกรรมวางไข่ การดูแลของพวกเรา การช่วยไข่ที่ยังไม่ฟัก ไปจนถึงการเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองในระยะแรก เราจะเลี้ยงลูกเต่ามะเฟืองพวกนี้ไปสักระยะ เพื่อให้เรียนรู้พฤติกรรม ฯลฯ ที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการอนุบาล/ช่วยชีวิตลูกเต่ามะเฟืองในวันหน้า และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเต่ามะเฟืองทั้งโลก เพราะไทยกำลังก้าวไปเป็นผู้นำในการอนุรักษ์/ดูแลเต่าใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ทั้งหมดนี้ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกคน

     ทั้งพี่ ๆ  เจ้าหน้าที่กรมทะเล/กรมอุทยาน/ข้าราชการในพื้นที่ พี่น้องพังงาและภูเก็ต ตลอดจนคนรักทะเลทั่วไทยที่ติดตามให้กำลังใจกันตลอด จากใกล้หมดหวังเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นเริ่มมีหวังเมื่อ 2 ปีก่อน กลายเป็นก้าวไปข้างหน้าในวันนี้ ในทะเลสีคราม ตราบใดที่ยังไม่ยอมแพ้ ปาฏิหาริย์เกิดได้เสมอ

หมายเหตุ - ขอบคุณคลิปจากท่านรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเล


ข้อมูลอ้างอิง :







วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ สรุป การฟักและกลับสู่ทะเลของลูกเต่ามะเฟือง (รังที่ 10 / ลำดับที่ 8)

: วันที่ 5 - 6 เมษายน 2563 :

     วันที่ 6 เมษายน 2563 กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่6 (พังงา) และศูนย์วิจัย ทช. ทะเลอันดามันตอนบน รายงานการฟักของลูกเต่ามะเฟืองจากเวรศูนย์เฝ้าระวังฯ หาดบ่อดานว่าเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 19.25 น. ลูกเต่ามะเฟืองได้ฟักและคลานขึ้นมาบริเวณปากหลุม จำนวน 2 ตัว จึงช่วยเหลือปล่อยลงสู่ทะเล และรอจนถึงเวลาประมาณ 22.30 น. ไม่มีลูกเต่ามะเฟืองขึ้นมาบริเวณปากหลุมอีก จึงขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟือง จนสามารถปล่อยลูกเต่ามะเฟืองลงสู่ทะเลได้อย่างปลอดภัยรวมทั้งสิ้น ๗ ตัว รอฟักในตู้ควบคุมอุณหภูมิ 3 ฟอง เป็นไข่ไม่สมบูรณ์ 5 ฟอง เป็นไข่ลม 55 ฟอง เสร็จภารกิจเวลาเที่ยงคืน นับเป็นวันที่ 56 หลังจากที่พบร่องรอยการขึ้นวางไข่






ข้อมูลอ้างอิง :








วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

✿ วิธี Download วิดีโอจาก Twitter

     หลังจากที่เขียนเรื่อง >> วิธี Download วิดีโอจาก Youtube, Facebook, Instagram << ไปแล้ว แต่เจ้าของบล็อกดันลืมเขียนวิธีดาวน์โหลดคลิปจากทวิตเตอร์ไว้ด้วย ก็เลยเขียนแยกมาเป็นตอนใหม่นี้เลย วิธีการก็ง่าย ๆ  เหมือนเดิมค่ะ

1. Copy URL คลิปจากทวิตเตอร์ที่เราต้องการดาวน์โหลด ซึ่งทำได้ 2 วิธีค่ะ

     - วิธีแรก ใช้เม้าส์ชี้ไปที่คลิป > คลิกขวา > คลิก Copy Video Address (วิธีนี้ทำได้เลยขณะอยู่ที่หน้าไทม์ไลน์ของเราเอง)



     - วิธีที่สอง เข้าไป Copy URL ที่ทวีตนั้นโดยตรง



2. เข้าไปที่เว็บไซต์ >> https://www.savetweetvid.com/th << และวาง URL ในช่องป้อน URL จากนั้นคลิกดาวน์โหลดหรือ Enter



3. เลือกดาวน์โหลดขนาดคลิปวิดีโอที่ต้องการ



     เรียบร้อยแล้วค่ะวิธีดาวน์โหลดคลิปวิดีโอจากทวิตเตอร์ .◕‿◕.






◕ 10 อันดับบทความยอดนิยมประจำสัปดาห์ ◕