วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

✿ R.I.P. น้องมาเรียมพะยูนน้อย บทเรียนล้ำค่าที่พวกเราจะไม่มีวันลืม

 

     ► วันที่ 17 สิงหาคม 2562 กรม ทช. แจ้งข่าวร้ายว่า น้องมาเรียม ได้จากพวกเราไปแล้ว ทีมแพทย์พบว่าน้องมาเรียม หยุดหายใจ และไม่เจอชีพจร จึงรีบนำขึ้นจากน้ำรอบแรก กระตุ้นหายใจ พบมีการตอบสนอง ตายังตอบสนอง จึงเอาลงบ่อ จากนั้นตรวจชีพจรซ้ำ แต่ไม่เจอชีพจรอีก จึงฉีดยาช่วยชีวิต และเอาขึ้นจากบ่อรอบที่ 2 จนกระทั่งเวลา 00.09 น. น้องได้จากพวกเราไปอย่างสงบ



     ► วันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 01.00 น. ทีมสัตวแพทย์ ทีมพิทักษ์ดุหยง พร้อมด้วยผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งของกรม ทช. และเขตห้ามล่าฯ ร่วมกันเคลื่อนย้าย "น้องมาเรียม" ด้วยเรือ ทช.217 จากอ่าวดูหยง บ้านบาตูปูเต๊ะ ม.4 มายังท่าเรือบ้านโคกสะท้อน ม.1 เพื่อนำน้องมาเรียม เข้าสู่กระบวนการผ่าชันสูตรซากที่มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง



     ► วันที่ 17 สิงหาคม 2562 เวลา 05.52 น. ทีมสัตวแพทย์ 10 คนจากกรม ทช. จุฬาฯ กองทัพเรือ และ มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมรายงานผลการชันสูตร ผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียม สาเหตุมาจากการช็อก นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็ก ๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง ตามมา

     ♦ ช่วงแรกของการรักษา สามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อก และทำให้เสียชีวิตในที่สุด

     ♦ รอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น ถูกพะยูนตัวใหญ่พุ่งชน หรือชนหินขณะที่เกยที่ตื้น

     ♦ ทุกคนเศร้าเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ แต่สิ่งที่ตอกย้ำให้ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ถ้าจะอนุรักษ์ให้สัตว์ทะเลหายากยังคงอยู่กับเราต่อไป ทุกภาคส่วน ทุกคน ต้องช่วยกันเรื่องขยะทะเล




ข้อความจากเฟซบุ๊คคุณ Thon Thamrongnawasawat (ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์)





 #เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้

● หนึ่ง - นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน (ก.ค.2562) พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน

● สอง - นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)

● สาม - เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป

การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด

● สี่ - มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติเพื่อพิจารณา

ในแผนมีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งด้านการอนุรักษ์พะยูน จัดการพื้นที่ร่วมกัน มาตรการต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนหวังว่า เมื่อทำออกมาแล้ว จะช่วยเพื่อน ๆ ของมาเรียมได้

ทว่า...มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแผนใดสามารถทำได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกคนในชาติ คือปัญหาจากขยะทะเล

แม้แผนพะยูนแห่งชาติจะประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่ในทะเลยังมีขยะ พะยูนทุกชีวิตก็ยังคงเสี่ยงต่อไป

● ห้า - ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของน้องมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริง เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

ใน 10 เดือนแรกของปี 61 เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน 
ใน 10 เดือนแรกของปี 62 เก็บได้ 95.28 ตัน (ปีงบประมาณ)

เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พื้นที่เก็บขยะที่เดิม เก็บทุกวัน ข้อมูลนี้จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาเรื่องขยะทะเลยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

● หก - การจากไปของน้องมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ ?

ความตายของสัตว์ทะเลต่าง ๆ ในอดีต รวมทั้งวาฬนำร่องที่สงขลา (มิ.ย.2561) เต่ามะเฟืองที่ระยอง (ก.ค.2562) ทำให้เราตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ข้อมูลขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นในอ่าวพังงา แสดงให้เห็นชัดว่า แค่ตระหนักยังไม่พอ แค่เลิกใช้ 2-3 วันจากนั้นก็กลับมาใช้ต่อมันเป็นเพียงกระแสชั่ววูบ

มาเรียมเป็นเสมือนเด็กน้อยในสงครามระหว่างมนุษย์กับขยะทะเล

สงครามกับความรับผิดชอบของพวกเราเอง

สงครามที่พวกเรากำลังจะพ่ายแพ้...

● เจ็ด - หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก

เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 65 (ถุงก๊อบแก็บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ)

การจากไปของมาเรียม อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการเร่งรัดโรดแมปที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความจริงก่อนปี 65

เพราะยิ่งรอ สัตว์ทะเลก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งทรมาน ยิ่งตาย

ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ผมจะเสนอประเด็นเร่งรัดมาตรการแบนพลาสติกเข้าที่ประชุมแน่นอน

ที่เหลือ ก็คงต้องฝากไว้กับความรักระหว่างคนกับน้องมาเรียม

มันเหมือนเป็นบทพิสูจน์ความรักความจริงใจของคนไทยกับท้องทะเล...




ย้อนดูคลิปบางส่วนของน้อง ความทรงจำที่น่ารักจากลูกพะยูนตัวน้อย ๆ


❤ คลิปดูดนิ้วหิวนมในตำนาน (https://www.facebook.com/watch/?v=2521288574550293)





❤ อวดพุงชมพูหลังกินนมเสร็จ (https://www.facebook.com/watch/?v=632632360548980)



❤ หนูนอนหลับกลิ้งไปกลิ้งมาตามน้ำเลยค่าา (https://www.facebook.com/watch/?v=2305140172855213)





❤ หนูซนไปหน่อยเลยต้องทายาที่พุงค่ะ (https://www.facebook.com/watch/?v=388432171805060)



❤ ดูดครีบมากไปครีบเริ่มด้านเลย (https://www.facebook.com/watch/?v=2457237384371278)





     'น้องมาเรียม' นางฟ้าตัวน้อยของพวกเรา น้องเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความรัก ความเอ็นดู ความห่วงใยได้อย่างมากมาย หลายคนต่างก็ลุ้นและเอาใจช่วยน้องตั้งแต่วันแรกที่เจอจนถึงวันนี้ (26 เมษายน 2562 - 17 สิงหาคม 2562) น้องมีความน่ารักน่าเอ็นดูไม่เคยเว้นวัน ตอนนี้น้องเดินทางกลับไปแล้ว ไปในที่ที่เราจะไม่ได้เห็นน้องด้วยตาแต่เราจะเห็นน้องด้วยใจเสมอ และน้องก็ได้รับความรักความหวังดีอย่างมากมายนับไม่ถ้วนเป็นเกราะคุ้มกันกลับไปด้วย

     R.I.P. นะคะน้องมาเรียม "ผู้หญิงที่มีจิตใจงดงาม"






ข้อมูลอ้างอิง :




ยังมีน้องยามีลให้พวกเราได้ช่วยกันดูแลนะคะ เข้าไปอ่านรายละเอียดกันก่อนจะเข้าไปดูน้องผ่านกล้อง CCTV จ้า >> Live สด น้องมาเรียมและน้องยามีลลูกพะยูนน้อยผ่านกล้อง CCTV <<






●●● Home หน้าแรก ●●●

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

◕ 10 อันดับบทความยอดนิยมประจำสัปดาห์ ◕